วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

ชาติศิริ โสภณพนิช ร่วมตั้ง ABC


สมาคมนักธุรกิจอาเซียน หรือ ABC (ASEAN Business Club) ที่ริเริ่มโดยนาย ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค ซีอีโอ ของแบงก์ซีไอเอ็มบีนั้นเป็นสมาคม ซึ่งมีผู้ร่วมก่อตั้ง 10 คน หนึ่งในตัวแทนจากประเทศไทยและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการตั้งสมาคมนี้ด้วย คือ คุณชาติศิริ โสภณพนิช
ชาติศิริ โสภณพนิช

คุณชาติศิริ ซึ่งเป็นผู้นำตระกูล โสภณพนิช ในรุ่นที่ 3 ได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาที่ปรึกษาของสมาคมแห่งนี้ในการประชุมโต๊ะกลมอาเซียน-ประเทศไทย ที่จัดโดยสมาคมนักธุรกิจอาเซียนเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2555 (ครั้งแรกในประเทศไทย) นั้น คุณชาติศิริ ในฐานะประธานร่วมเอบีซีประเทศไทย ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า ความแตกต่างในการพัฒนาของประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นโอกาสที่แต่ละประเทศจะมีบทบาทในการสร้างเสริมซึ่งกันและกัน แต่ประเทศสมาชิกต้องค้นหาวิธีการในการทำงานร่วมกัน

นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงแนวทางและบทบาทของสมาคมว่า นอกจากการสร้างความเติบโตแล้ว ธุรกิจเอกชนอาเซียนยังต้องร่วมมือกันจัดการกับปัญหาความไม่เท่าเทียมกันและปัญหาสังคมอื่นๆ ซึ่งเอบีซีจะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่เหมาะสมที่สุดในการกระตุ้นภาครัฐและสนับสนุนการลงมือดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม

คุณชาติศิริโสภณพนิช หรือ โทนี่ ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กรรมการของ บริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) และ Singapore Management University อีกทั้งคุณโทนี่ยังได้รับการโหวตให้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทยเป็นครั้งที่ 2 อีกด้วย (ครั้งแรกเมื่อปี 2543-2548)

ธนาคารกรุงเทพภายใต้การบริหารของ โสภณพนิช รุ่นที่ 3 ได้วางวิสัยทัศน์ที่จะก้าวขึ้นเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค (Regional Bank) สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่องจนคว้าแชมป์ ธนาคารแห่งปี 2555 (Bank of the Year 2012) เป็นปีที่ 6 ติดต่อกันตั้งแต่ปี 2550

ด้วยสินทรัพย์เกิน 2 ล้านล้านบาท มีสาขาทั้งหมดกว่า 1,040 สาขา ตู้เอทีเอ็มและเครื่องรับฝากเงินสดกว่า 7,600 เครื่อง สาขาไมโคร (Micro Branch) ที่เปิดให้บริการ 7 วัน อีกกว่า 200 สาขา มีสาขาที่ต่างประเทศทั้งหมด 26 สาขา อยู่ใน 13 ประเทศ (ในอาเซียน 8 ประเทศ ขาดกัมพูชาและบรูไน) โดยเน้นรูปแบบการลงทุนขยายธุรกิจด้วยตัวเอง ไม่คิดที่จะเข้าไปซื้อกิจการแต่อย่างไร

คุณชาติศิริ โสภณพนิช เกิดวันที่ 12 พฤษภาคม 2502 เป็นลูกชายคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 4 คนของคุณชาตรี โสภณพนิช กับคุณหญิงสุมนี โสภณพนิช สำเร็จการศึกษาคว้าปริญญาตรีเกียรตินิยมทางด้านวิศวกรรมศาสตร์เคมีจาก Warchester Polytechnic Institute Cambridge และปริญญาโทสาขาวิศวกรรมเคมีและบริหารธุรกิจจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังสำเร็จการศึกษา คุณโทนี่ ได้เข้าทำงานที่ธนาคารซิตี้แบงก์ นครนิวยอร์ก ระยะหนึ่ง เพื่อหาประสบการณ์ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย และได้เริ่มต้นทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 โดยมีประสบการณ์ทั้งการปฏิบัติงานและบริหารในหน่วยงานต่างๆ ของธนาคาร เช่น สำนักค้าเงินตราต่างประเทศ ฝ่ายการตลาด สายบริหารการเงิน สายวานิชธนกิจ และกิจการธนาคารต่างประเทศ

จากนั้นปี 2531 ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสำนักค้าเงินตราต่างประเทศเดือนกันยายน 2532 ขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด และรักษาการผู้จัดการสำนักจัดสรรเงินวันที่ 4 มิถุนายน 2534 เป็นเจ้าหน้าที่บริหารชั้นรองผู้จัดการอาวุโส เดือนเมษายน 2535 เป็นกรรมการธนาคาร และกรรมการบริหาร อีก 2 เดือนให้หลังขึ้นเป็นกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา

ด้านชีวิตครอบครัวคุณชาติศิริ โสภณพนิช แต่งงานกับคุณณินทิรา (ประจวบเหมาะ) มีลูก 5 คน โดยส่วนตัวเป็นคนมีบุคลิกภาพที่สุภาพอ่อนโยน เป็นคนจริงจังกับงาน ขยันเรียนรู้ เคารพผู้ใหญ่ ให้เกียรติคนอื่น และเชื่อมั่นในตัวเองสูง

จากฝีไม้ลายมือในการบริหารและขับเคลื่อนธนาคารอันดับ 1 ของประเทศไทย ประกอบกับประสบการณ์ความรู้ ความสามารถ ทำให้การเข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมนักธุรกิจอาเซียนของคุณโทนี่ ถูกจับตามองจากนักธุรกิจชั้นนำเป็นอย่างมากว่าจะสามารถผลักดันวิสัยทัศน์เอบีซีให้เป็นจริงได้อย่างไร

โดย พิรุณ ศรีวุฒิชาญ - AEC World - หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ

วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

จอห์น เปง เลขาฯอาเซียนบิสฯคลับ


นายจอห์น เปง (John Pang) เป็นพ่อบ้านคนสำคัญของสมาคมนักธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Club) ในตำแหน่งเลขาธิการสมาคม ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่าสมาคมนี้ตั้งขึ้นเชื่อมโยงผู้นำธุรกิจระดับเบิ้มๆ ของแต่ละประเทศในอาเซียนให้มารู้จักกันและช่วยกันผลักดันแผนจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผู้ผลักดันให้เกิด สมาคมนักธุรกิจอาเซียน คนสำคัญคือ ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค บอสใหญ่แบงก์ซีไอเอ็มบี ดังนั้นพ่อบ้านของสมาคมคนนี้จึงมาจากแบงก์ซีไอเอ็มบีเหมือนกัน
จอห์น เปง (John Pang)

ปัจจุบันนายจอห์น เปง เป็นซีอีโอของสถาบันวิจัยศึกษา ซีไอเอ็มบี อาเซียน หรือ CIMB ASEAN Research Institute (CARI) เป็นสถาบันที่ก่อตั้งขึ้นโดยบอสใหญ่ของแบงก์ซีไอเอ็มบี ในปี 2553 เพื่อเป็นองค์กรอิสระที่มีภารกิจหลักในการผสานความร่วมมือทางสังคมและเศรษฐกิจของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีการเขียนวิสัยทัศน์ไว้ชัดเจนว่า

“ประเทศสมาชิกอาเซียนลงนามข้อตกลงจะรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ภายในปี 2558 แต่มีภาคธุรกิจของประเทศสมาชิกเพียง 20% จากทั้งหมดที่ระบุถึงเออีซี ในแผนธุรกิจของแต่ละบริษัท จึงเป็นที่ชัดเจนว่าการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นงานสำคัญเกินกว่าจะให้ภาครัฐดำเนินการฝ่ายเดียว ภาคเอกชนและองค์กรอิสระต้องช่วยให้มีเรื่องเออีซีอยู่ในแผนธุรกิจของทุกบริษัท”

เท่ากับว่า นายจอห์น เปง เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CARI และเลขาธิการสมาคมนักธุรกิจอาเซียนควบคู่กันไป ซึ่งความจริงทั้งสององค์กรก็มีภารกิจเดียวกัน โดยในชฐานะเลขาธิการสมาคม เขาได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า ขณะนี้ระบบเศรษฐกิจโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เศรษฐกิจของเอเชียจะมีความสำคัญมากขึ้น ประเทศจีน อินเดียและอาเซียนจะเป็นกลไกหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก และอาเซียนมีโครงสร้างและทำเลดีที่สุดในเรื่องของการค้าขายระหว่างประเทศ

นายจอห์น เปง มีภูมิหลังเป็นนักวิชาการหนุ่มที่โด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากความรู้ที่หลากหลายแขนง เขาจบปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาปรัชญาเศรษฐศาสตร์ จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE - London School of Economics) ปริญญาเอกในสาขาปรัชญาการเมืองและศาสนมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา

นายจอห์นเคยดำรงตำแหน่งนักวิชาการรับเชิญอาวุโสอยู่ที่ สถาบันการศึกษาระหว่างประเทศ เอส ราชารัตนัม (S. Rajaratnam School of International Studies - RSIS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (Nanyang Technological University) ประเทศสิงคโปร์

ในทางการเมือง นายจอห์น เป็น1ที่ปรึกษาให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของมาเลเซีย และยังเคยมีส่วนร่วมในการริเริ่มบริษัทบริหารจัดการความเสี่ยงและกลยุทธ์ด้านการสื่อสารแห่งภูมภาคอีกด้วย นอกจากนี้ยังเคยร่วมงานกับ แมคคินซี แอนด์ คอมพานี ในโครงการด้านการบิน น้ำมันและก๊าซ และพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จนกระทั่งเดือนเมษายน 2553 จอห์นจึงได้เข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของสถาบันวิจัยแห่งอาเซียน

คงต้องจับตาดูว่านายจอห์น เปง คนนี้จะมีส่วนผลักดันให้บริษัทต่างๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียน บรรจุแผนงานเกี่ยวกับเออีซี ไว้ในแผนธุรกิจของบริษัทได้อย่างไร

โดย พิรุณ ศรีวุฒิชาญ - AEC World - หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ

วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค

ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัคบอสใหญ่แบงก์ ซีไอเอ็มบี เป็นคนมีวิสัยทัศน์ในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ก้าวไกลที่สุดคนหนึ่ง เขาเป็นกำลังสำคัญในการริเริ่ม “สมาคมนักธุรกิจอาเซียน” โดยการเชิญนักธุรกิจผู้มีอิทธิพลและบทบาทจากทั่วภูมิภาคทั้งหมด 10 คนร่วมเป็นผู้ก่อตั้งและรับเชิญให้ดำรงตำแหน่งเป็นสภาที่ปรึกษาของสมาคมแห่งนี้

ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค
สมาคมนักธุรกิจอาเซียน หรือ ABC (Asean Business Clubตั้งขึ้นเพื่อเชื่อมโยงผู้นำธุรกิจระดับเบิ้มๆ ของแต่ละประเทศในอาเซียนให้มารู้จักกัน โดยมุ่งหวังว่าความสัมพันธ์นี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือและการสนับสนุนการบูรณาการเศรษฐกิจในอาเซียน ภายใต้วิสัยทัศน์ “อาเซียนเปิดกว้างโอกาสทางธุรกิจ”

เป็นความรู้สึกลึกๆ ของนายนาเซียร์ ราซัค ที่อยากให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นสังคมใหญ่ที่เปิดกว้างจริงๆ เช่นเดียวกับประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) และคิดว่าถ้าผู้นำภาคธุรกิจในภูมิภาคเข้าร่วมผลักดันแนวคิดนี้ก็จะทำให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจจริงๆ ที่ไม่มีกำแพงที่แต่ประเทศจะสร้างขึ้นมาอีกเพื่อปกป้องตัวเอง

ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัคประธานบริหาร กลุ่มซีไอเอ็มบี (มาเลเซีย)เคยแถลงไว้ว่า “อาเซียนต้องการมากกว่าความร่วมมือระหว่างภาครัฐ โดยการจะเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจำเป็นต้องอาศัยการเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมความเชื่อมั่นและทุ่มเทของภาคเอกชน ดังนั้น ABC จะไม่เพียงแต่ดึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจหรือภาครัฐในอาเซียนเท่านั้น แต่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายที่เอื้อต่อการผสานกำลังระหว่างผู้นำภาคธุรกิจและบริษัทเอกชนทั่วทั้งภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกัน”

นายนาเซียร์ ราซัค เป็นบุตรชายคนเล็กของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่สองของมาเลเซียคือ นายตุน อับดุล ราซัคกับนาง ราฮาห์ มุฮัมหมัด นุฮฺ และน้องชายของ นายราจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของมาเลเซีย เกิดปี 2509 แต่งงานกับลูกสาวของนายตัน ศรี อะซิซ ธาฮา อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia) คือนางอัซลิน่า อะซิซและมีบุตรสองคน

นายนาเซียร์ ราซัคเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์จอห์นและโรงเรียนอลิสสมิทธ์ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์กระทั่งอายุ 13 ขวบ ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเอาน์เดล ประเทศอังกฤษจบการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัยบริสตอลในปี 2528 ปริญญาโทด้านปรัชญาการพัฒนาเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอีก 3 ปีต่อมา

จบการศึกษาที่ประเทศอังกฤษแล้วนายนาเซียร์ ราซัคเริ่มทำงานกับธนาคารซีไอเอ็มบี (มาเลเซีย)ในปี 2532 ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญงานวาณิชธนกิจและย้ายไปประจำตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารที่บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ 3 ปี จึงกลับมาร่วมงานกับธนาคารซีไอเอ็มบี (มาเลเซีย) อีกครั้ง ไต่เต้าขึ้นมาจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ในปี 2552

ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัคประสบความสำเร็จอย่างมาก ได้รับรางวัลต่างๆมากมาย อาทิ นักธุรกิจแห่งปี 2546 Young Global Leader 2546 CEO แห่งปี 2547 รางวัล ผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต” (Lifetime Achievement Award) ปี 2552 เป็นผู้บริหารที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลนี้ รางวัลผู้บริหารยอดเยี่ยมของมาเลเซีย 2552-2553 และผู้นำองค์กรยอดเยี่ยม 2554 ล่าสุด ได้รับรางวัล “ผู้สนับสนุนดีเด่น” สำหรับการสร้างประโยชน์ให้แก่ตลาดการเงินในเอเชียซึ่งรางวัลดังกล่าวนับเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติสูงสุดในอุตสาหกรรมการเงินระดับสากลทุกวันนี้

ซีไอเอ็มบี ภายใต้การบริหารของนายราเซียร์ ราซัคเติบโตจากการควบรวมกันของธุรกิจวาณิชธนกิจเป็น ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป เบอร์ฮาด จนก้าวขึ้นมาเป็นสถาบันการเงินอันดับ 2 ของมาเลเซีย มีสาขาอยู่ใน 14 ประเทศทั่วโลก 1,100 สาขาในอาเซียน เป็นธนาคารระดับภูมิภาคภายใต้สโลแกน ASEAN For You” ในปี 2553 ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป ได้รับรางวัล ธนาคารและวาณิชธนกิจยอดเยี่ยม ธนาคารอิสลามยอดเยี่ยม และ Top Investment Bank Award สำหรับภูมิภาคเอเชีย

ด้วยเห็นฝีไม้ลายมือและความสำเร็จในการบริหารองค์กรขั้นเทพทำให้ในภาคธุรกิจทั่วอาเซียน เฝ้าติดตามดูว่า “สมาคมนักธุรกิจอาเซียน” ภายใต้วิสัยทัศน์ของนายนาเซียร์ ราซัค จะมีย่างก้าวอย่างไรในการ ร่วมผลักดันประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตอันใกล้

โดย พิรุณ ศรีวุฒิชาญ - AEC World - หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ