วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ตัวแทนไทยใน ABC ทศ จิราธิวัฒน์

ในการก่อตั้งสมาคมนักธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Club : ABC) มีสมาชิก 10 คนแรกที่เป็นตัวแทนมาจาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ประเทศละ 2 คน สำหรับตัวแทนประเทศไทยนอกจากคุณชาติศิริ โสภณพนิช แล้ว ยังมีคุณทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทลคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ ซีอาร์ซี อีกหนึ่งท่านที่มีบทบาทสำคัญ
ทศ จิราธิวัฒน์ 

คุณทศ ถือเป็นผู้บริหารคนหนึ่งที่มีวิสัยทัศน์และมองเห็นโอกาสในขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีก 2 ปีข้างหน้า (ปี 2558) นั้น คุณทศมองว่าเป็นโอกาสทองในการขยายตลาดและธุรกิจไปยังต่างประเทศด้วยฐานลูกค้าที่เพิ่มจาก 60 ล้านคนเป็น 600 ล้านคน “การก้าวเข้าสู่ AEC จะทำให้ในอนาคตตลาดค้าปลีกของประเทศไทยจะมีมูลค่าประมาณ 4 ล้านล้านบาท”

นอกจากนี้คุณทศยังได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจอีกว่า อาเซียนควรแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ อีกส่วนหนึ่งคือ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังเป็นที่ถูกจับตาอยู่ หากภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมพัฒนาให้ทั้ง 5 ประเทศเสมือนหนึ่งเป็นประเทศเดียวกัน ก็จะสามารถสร้างคุณค่าได้อย่างมหาศาล แล้วประเทศไทยก็จะเป็นศูนย์กลางได้อย่างแน่นอน โดยเริ่มจากการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้หมด เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรสำหรับผู้คนและลดต้นทุนการขนส่งสินค้า รวมทั้งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ

ด้วยแนวคิดมุมมองที่กว้างไกลและทันสมัย จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมคุณทศ ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล “จิราธิวัฒน์” ถึงได้รับการคัดเลือกให้เข้าเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักธุรกิจอาเซียนในครั้งนี้ ในด้านฝีมือการบริหารธุรกิจค้าปลีกในเครือกลุ่มเซ็นทรัล คุณทศได้รับการการันตีด้วยตำแหน่งซีอีโอแห่งปี 2012 หรือ “BUSINESS MAN OF THE YEAR 2012” จากการสร้างดีลประวัติศาสตร์ค้าปลีกไทย เข้าซื้อกิจการห้างหรูอันดับ 1 ของอิตาลี “ลา รีนาเซนเต” มูลค่า 260 ล้านยูโร หรือกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ในฐานะผู้นำทัพขับเคลื่อนองค์กรขนาดใหญ่และเก่าแก่กว่า 60 ปี คุณทศยึดถือหลักคำสอนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยคุณปู่ (เตียง) คือ “ขยัน-ประหยัด-อดทน” และได้วางอนาคตให้กับเซ็นทรัลรีเทลในอีก 5 ปีข้างหน้าว่าจะเติบโตในอัตราก้าวกระโดด ด้วยกำลังซื้อจากประชากรโลกกว่า 7 พันล้านคน เพื่อการก้าวข้ามความเป็น Domestic Leader สู่ “บริษัทข้ามชาติ” อย่างเต็มตัว ซึ่งถือเป็นบิ๊ก ชาเลนจ์!!! ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตด้วยการมุ่งซื้อหรือควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition) และการร่วมลงทุน (Joint Venture) ทั้งในยุโรป และอาเซียน

ทศ จิราธิวัฒน์ ปัจจุบันอายุ 48 ปี เป็นบุตรคนสุดท้องของ คุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ และคุณวนิดา จิราธิวัฒน์ มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน คือ พ.ญ.สุวิมล ฮิลล์ (หล่าน) สมรสกับ Dr.Michael C. Hill นางอรุณี ชาน (ยี) สมรสกับ Mr.Peter w.f. Chan นางยุวดี พิจารณ์จิตร (ตา) สมรสกับ นายวรชัย พิจารณ์จิตร นางนิตย์สินี โฮ (นิตย์) สมรสกับ Mr.Henry Ho นางสิริเกศ จิรกิติ (อ้อย) สมรสกับ นายประเสริฐ จิรกิติ น.ส.เนตรอนงค์ จิราธิวัฒน์ (แอ๊ด) และนายปริญญ์ จิราธิวัฒน์ (ตุ้น)

ด้านการศึกษาคุณทศ จบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ จาก Wesleyan University ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาโทหลักสูตรบริหารธุรกิจ (MBA) ทางด้านการเงิน จาก Columbic University ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่งงานกับคุณศุกตา จิราธิวัฒน์ มีบุตรชาย 2 คน คือนายอาคาร จิราธิวัฒน์ และนายฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ นอกจากนี้ในปี 2550 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์รางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย (Thailand Top 100 HR Award) สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ด้วยฝีไม้ลายมือในการบริหารธุรกิจเครือกลุ่มเซ็นทรัล กรุ๊ป จนกลายเป็น "ทุนค้าปลีกไทยข้ามชาติ" และก้าวขึ้นเป็นคลื่นลูกใหม่บนเวทีโลกได้นั้น ประกอบกับประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ทำให้คุณทศ ถูกจับตามองจากนักธุรกิจชั้นนำเป็นอย่างมากว่าจะสามารถผลักดันวิสัยทัศน์เอบีซีให้เป็นจริงได้อย่างไร

โดย พิรุณ ศรีวุฒิชาญ - AEC World - หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ

วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กี๊ก AEC หญิงเก่งจิตอาสา


หากจะพูดถึงแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับ AEC ในโลกออนไลน์แล้ว หลายคนคงเคยได้ยินโซเชียลเพจชื่อว่า “AEC Geek” ที่ก่อตั้งโดย ดร.มนธ์สินี กีรติไกรนนท์ หรือ ดร.เหมียว ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวนองค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก
ดร.มนธ์สินี กีรติไกรนนท์

จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งเพจ AEC Geek มาจากการที่ ดร.เหมียว ได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรใหญ่ๆ ระดับแถวหน้าของประเทศที่มีการขยายการลงทุนออกไปยังต่างประเทศ จึงทำให้เกิดความคิดที่อยากจะแชร์ข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ และเครื่องมือต่างๆ เชิงกลยุทธ์ที่มีประโยชน์ให้กับองค์กรขนาดเล็กอย่าง SMEs ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 95% ของบริษัททั้งหมดในประเทศไทย เพื่อสร้างศักยภาพ ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC ได้อย่างแข็งแกร่ง

“องค์กรใหญ่ๆ เค้ามีกำลังมากพอที่จะจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการดำเนินกลยุทธ์ได้ เราจึงรู้สึกว่าพวกเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ คำแนะนำที่มีประโยชน์ทั้งหลาย เราอยากจะนำมาใช้กับรายย่อยที่ไม่มีกำลังหรือโอกาสในการเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย” ดร.เหมียว กล่าวในรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่ง

ดร.เหมียว ริเริ่มเวปเพจ AEC Geek ด้วยการรวบรวมคนกลุ่มหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่อง AEC อย่างรู้จริง โดยเริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 ด้วยระยะเวลาเพียง 2 เดือนมีผู้สนใจเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกมากถึง 20,254 คนทั้งที่ไม่ได้มีการโปรโมทหรือทำประชาสัมพันธ์มากมาย แต่จะเน้นการเอาข้อมูลเชิงวิเคราะห์มาเล่าให้ฟัง

สิ่งที่ทำให้ AEC Geek ประสบความสำเร็จอย่างมาก นั้นคือการนำ Business Model ระดับสากล มาใช้ประกอบในการวิเคราะห์ข้อมูลและนำมาเล่าให้ฟังอย่างเข้าใจง่าย ปัจจุบันมีสมาชิก 56,099 คน

ต่อมาได้มีการเชิญชวนสมาชิกที่มีความสนใจและมีจิตอาสา จัดตั้งเป็นกลุ่มจิตอาสาทางธุรกิจ หรือที่เรียกว่า “อาสากูรู” ขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับเจ้าของธุรกิจไทย ซึ่งเป็นโครงการจิตอาสาที่ต้องการฝึกฝนตนเองเพื่อเตรียมตัวเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มุ่งหวังที่จะเสริมสร้างศักยภาพ SME ไทยภายใต้โครงการที่ชื่อว่า Driving Value Innovation For Thai Business นับเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของกระแสนิยม 3 อย่างคือ โซเชียลมีเดีย จิตอาสา และAEC

นอกจากนี้ ดร.เหมียว ยังมีโอกาสให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ ในนามของ ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน เกี่ยวกับผลงานวิจัยและข้อแนะนำที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถเตรียมรับมือกับการก้าวสู่ AEC ได้ อาทิ นำเสนอโมเดล EHL เพื่อใช้ในการวางแผนระยะยาว สำหรับธุรกิจค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค งานวิจัยแนวโน้มการเติบโตด้านอุตสาหกรรมไอทีภายใต้ระบบ 3G และAEC กลยุทธ์ในการสร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจรองรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เป็นต้น

ดร.มนธ์สินี กีรติไกรนนท์ มีประสบการณ์ทำงานในแวดวง ICT มากว่า 12 ปี โดยจบปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจ (B.B.A) จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จากนั้นไปต่อปริญญาโทและเอก ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) จากมหาวิทยาลัยเทมเปิล ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มทำงานกับบริษัทผู้ให้บริการด้านการสื่อสารแห่งหนึ่งในรัฐนิวเจอร์ซีย์

แต่ภายหลังเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน จึงได้เดินทางกลับมาทำงานที่ประเทศไทย โดยดูแลในส่วนกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัททรูฯ อยู่ 5 ปี

ปัจจุบัน ดร.มนธ์สินี ร่วมงานกับบริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน ได้ประมาณกว่า 2 ปี มีผลงานเขียนหนังสือเรื่อง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบโทรคมนาคมในประเทศไทย พิมพ์จำหน่ายทั่วโลก นอกจากนี้ ยังเป็นอาจารย์พิเศษภาควิชาการจัดการโทรคมนาคม ให้กับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และภาควิชา International MBA ที่ มหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย

ดร.เหมียว เป็นลูกสาวคนที่ 2 ในบรรดาพี่น้อง 5 คน สมัยเด็กมีความฝันอยากเป็นดีเจ เพราะชอบดูหนัง ฟังเพลง และงานศิลปะ เป็นเด็กกิจกรรมเข้าชมรมต่างๆ อาทิ AIESEC ชมรมนักร้องประสานเสียง และบาสเกตบอล เป็นต้น เป็นคนที่มีบุคลิกอยากรู้อยากเห็น และไม่ย่อท้อเมื่อเจออุปสรรคแต่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าทำได้ โดยถือคติ “Every problem has a solution” และมีไอดอลในดวงใจคือ โอปราห์ วินฟรีย์ คำขวัญที่มักจะบอกกับทีมงานอยู่เสมอคือ สร้างสรรค์ ทะเยอทะยาน และอดทน

เป็นที่น่าสนใจว่าผู้หญิงเก่งคนนี้จะสามารถนำพากลุ่มจิตอาสาให้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้ SMEs ไทยสามารถติดปีกทะยานไปโลดแล่นในเวทีอาเซียนได้อย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่

โดย พิรุณ ศรีวุฒิชาญ - AEC World - หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ

วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

‘มือหนึ่ง’ เชื่อมเพื่อนบ้าน


นายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นหนึ่งบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่สมาชิก 10 ประเทศ มีกำหนดรวมกันปลายปี 2558
นายนิยม ไวยรัชพาณิช

ช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านนายนิยมได้ทำหน้าที่อย่างแข็งขันในการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดน โดยทำหน้าที่เชื่อมประสานการค้าระหว่างนักธุรกิจของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะก้าวเข้าสู่เขตการค้าเสรีด้านสินค้าและบริการ

นายนิยม ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาให้กับศูนย์ AEC Prompt ที่จัดตั้งขึ้นโดยหอการค้าและสภาหอการค้าไทยมีจุดประสงค์เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ SME โดยเป็นหน่วยงานหลักในการเฝ้าติดตาม ศึกษา วิเคราะห์ เตือนภัย แสวงหาลู่ทาง โอกาส และขจัดอุปสรรคของ AEC ให้กับทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ

นอกจากนี้นายนิยม ยังเป็นที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก ที่ปรึกษาให้กับโครงการวิจัย “การค้าระหว่างประเทศทางบกด้านเหนือและด้านตะวันตก” โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นที่ปรึกษาให้กับคณะทำงาน “การจักการความรู้จังหวัดตาก” หรือ TAK KM และเป็นคณะกรรมการกำกับการศึกษาให้กับการวิจัย โครงการศึกษาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งทางถนนระหว่างประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจากกรมขนส่งทางบกอีกด้วย

ในด้านการเผยแพร่ข้อมูลและความรู้ต่างๆ นายนิยม ได้เขียนหนังสือ “การค้าชายแดนไทยกับประเทศสหภาพพม่าที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย” และเดินสายเป็นวิทยากรรับเชิญให้กับงานสัมมนาต่างๆ มากมาย ล่าสุดได้รับเชิญให้ไปบรรยายเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเชียงราย โดยชี้ให้เห็นว่า อำเภอแม่สายนั้นมีศักยภาพสูงเพราะเชื่อมโยงไปถึง 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว เมียนมาร์ และจีนตอนใต้ แม้ยังไม่เกิด AEC อย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 แต่การเคลื่อนย้ายของสินค้าและคนอย่างเสรีก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

นายนิยม เคยแสดงวิสัยทัศน์ไว้ดังนี้ “เราทำการค้าชายแดนทางตอนเหนือปีละประมาณ 1 ล้านล้านบาท ประชากรเพียง 100 ล้านคน ถ้าจะให้มากกว่านี้ก็ต้องค้าไปเวียดนามอีก 90 ล้านคน ข้ามไปจีนตอนใต้ มณฑลยูนนาน 45 ล้านคน มณฑลเสฉวน 90 ล้านคน ฉงชิง 30 ล้านคน และทิเบตอีกประมาณกว่า 20 ล้านคน ความจริงค้ากับจีนสินค้าก็ไปถึงหนานหนิงและเซี่ยงไฮ้ได้ ผมว่าเศรษฐกิจชายแดนถึง 4 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว และกำลังซื้อดีวันดีคืนด้วย เติบโตได้ปีละ 20 %”

นายนิยม ยังมีส่วนร่วมในการตั้งสภาธุรกิจเพื่อความร่วมมือระหว่างกัน อาทิ สภาธุรกิจไทย-สปป.ลาว โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อการพบปะเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางด้านการค้าระหว่างเอกชนของทั้ง 2 ประเทศ

ด้วยบทบาทหน้าที่และประสบการณ์ที่คร่ำหวอด คงต้องมาจับตาดูกันว่า นายนิยม ไวรัชพานิช จะสามารถผลักดันการค้าเศรษฐกิจชายแดนของไทยให้มีการเติบโตและแข็งแกร่งพร้อมรับมือกับการเปิด AEC ได้มากน้อยแค่ไหน

ประวัติส่วนตัวนายนิยม ไวยรัชพาณิช เป็นคนฉะเชิงเทรา เกิด 3 พฤษภาคม 2488 พ่อชื่อ “เทียม” มีพี่น้องรวม 10 คน คือนายนิคม ไวยรัชพาณิช ประธานวุฒิสภาคนปัจจุบันซึ่งเป็นน้อง นางสุภา ตันเจริญ นางมาลี นพเกตุ (เสียชีวิต) นายภุชงค์ ไวยรัชพาณิช ปัจจุบันดูแลโรงสีพูลศรีวัฒนาที่ฉะเชิงเทรา นายอุดม ไวยรัชพาณิช นางรัชนีย์ เอี่ยมสกุล นายนิพนธ์ ไวยรัชพาณิช นายทรงศักดิ์ ไวยรัชพาณิช นายสากล ไวยรัชพาณิช และนายสุนทร ไวยรัชพาณิช

ทางด้านการศึกษา นายนิยม จบปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปรอ.) รุ่น 377 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ศรีนิยม จำกัด ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เกษตรและอสังหาริมทรัพย์ และเป็นประธานกรรมการศูนย์การค้าพาเจริญ และกรรมการบริษัท เมียนมาร์ เอกรัฐ จำกัด ผลิตหม้อแปลงในเมียนมาร์

นายนิยม เป็นประธานหอการค้าจังหวัดตากสองสมัย พ.ศ. 2535-2538 และแวะเวียนอยู่ในแวดวงการเมืองบ้างเป็นกรรมาธิการรัฐสภาหลายชุด ส่วนใหญ่ในเรื่องการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เคยเป็นปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคชาติไทยพัฒนา ในสมัยที่ยังเป็นพรรคชาติไทยและเคยได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้านสหกรณ์ในปี 2543 สมัยที่นายประพัฒน์ โพธสุธน คีย์แมนคนหนึ่งของพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดย พิรุณ ศรีวุฒิชาญ - AEC World - หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ

วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

ชาติศิริ โสภณพนิช ร่วมตั้ง ABC


สมาคมนักธุรกิจอาเซียน หรือ ABC (ASEAN Business Club) ที่ริเริ่มโดยนาย ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค ซีอีโอ ของแบงก์ซีไอเอ็มบีนั้นเป็นสมาคม ซึ่งมีผู้ร่วมก่อตั้ง 10 คน หนึ่งในตัวแทนจากประเทศไทยและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการตั้งสมาคมนี้ด้วย คือ คุณชาติศิริ โสภณพนิช
ชาติศิริ โสภณพนิช

คุณชาติศิริ ซึ่งเป็นผู้นำตระกูล โสภณพนิช ในรุ่นที่ 3 ได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาที่ปรึกษาของสมาคมแห่งนี้ในการประชุมโต๊ะกลมอาเซียน-ประเทศไทย ที่จัดโดยสมาคมนักธุรกิจอาเซียนเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2555 (ครั้งแรกในประเทศไทย) นั้น คุณชาติศิริ ในฐานะประธานร่วมเอบีซีประเทศไทย ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า ความแตกต่างในการพัฒนาของประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นโอกาสที่แต่ละประเทศจะมีบทบาทในการสร้างเสริมซึ่งกันและกัน แต่ประเทศสมาชิกต้องค้นหาวิธีการในการทำงานร่วมกัน

นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงแนวทางและบทบาทของสมาคมว่า นอกจากการสร้างความเติบโตแล้ว ธุรกิจเอกชนอาเซียนยังต้องร่วมมือกันจัดการกับปัญหาความไม่เท่าเทียมกันและปัญหาสังคมอื่นๆ ซึ่งเอบีซีจะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่เหมาะสมที่สุดในการกระตุ้นภาครัฐและสนับสนุนการลงมือดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม

คุณชาติศิริโสภณพนิช หรือ โทนี่ ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กรรมการของ บริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) และ Singapore Management University อีกทั้งคุณโทนี่ยังได้รับการโหวตให้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทยเป็นครั้งที่ 2 อีกด้วย (ครั้งแรกเมื่อปี 2543-2548)

ธนาคารกรุงเทพภายใต้การบริหารของ โสภณพนิช รุ่นที่ 3 ได้วางวิสัยทัศน์ที่จะก้าวขึ้นเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค (Regional Bank) สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่องจนคว้าแชมป์ ธนาคารแห่งปี 2555 (Bank of the Year 2012) เป็นปีที่ 6 ติดต่อกันตั้งแต่ปี 2550

ด้วยสินทรัพย์เกิน 2 ล้านล้านบาท มีสาขาทั้งหมดกว่า 1,040 สาขา ตู้เอทีเอ็มและเครื่องรับฝากเงินสดกว่า 7,600 เครื่อง สาขาไมโคร (Micro Branch) ที่เปิดให้บริการ 7 วัน อีกกว่า 200 สาขา มีสาขาที่ต่างประเทศทั้งหมด 26 สาขา อยู่ใน 13 ประเทศ (ในอาเซียน 8 ประเทศ ขาดกัมพูชาและบรูไน) โดยเน้นรูปแบบการลงทุนขยายธุรกิจด้วยตัวเอง ไม่คิดที่จะเข้าไปซื้อกิจการแต่อย่างไร

คุณชาติศิริ โสภณพนิช เกิดวันที่ 12 พฤษภาคม 2502 เป็นลูกชายคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 4 คนของคุณชาตรี โสภณพนิช กับคุณหญิงสุมนี โสภณพนิช สำเร็จการศึกษาคว้าปริญญาตรีเกียรตินิยมทางด้านวิศวกรรมศาสตร์เคมีจาก Warchester Polytechnic Institute Cambridge และปริญญาโทสาขาวิศวกรรมเคมีและบริหารธุรกิจจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังสำเร็จการศึกษา คุณโทนี่ ได้เข้าทำงานที่ธนาคารซิตี้แบงก์ นครนิวยอร์ก ระยะหนึ่ง เพื่อหาประสบการณ์ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย และได้เริ่มต้นทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 โดยมีประสบการณ์ทั้งการปฏิบัติงานและบริหารในหน่วยงานต่างๆ ของธนาคาร เช่น สำนักค้าเงินตราต่างประเทศ ฝ่ายการตลาด สายบริหารการเงิน สายวานิชธนกิจ และกิจการธนาคารต่างประเทศ

จากนั้นปี 2531 ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสำนักค้าเงินตราต่างประเทศเดือนกันยายน 2532 ขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด และรักษาการผู้จัดการสำนักจัดสรรเงินวันที่ 4 มิถุนายน 2534 เป็นเจ้าหน้าที่บริหารชั้นรองผู้จัดการอาวุโส เดือนเมษายน 2535 เป็นกรรมการธนาคาร และกรรมการบริหาร อีก 2 เดือนให้หลังขึ้นเป็นกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา

ด้านชีวิตครอบครัวคุณชาติศิริ โสภณพนิช แต่งงานกับคุณณินทิรา (ประจวบเหมาะ) มีลูก 5 คน โดยส่วนตัวเป็นคนมีบุคลิกภาพที่สุภาพอ่อนโยน เป็นคนจริงจังกับงาน ขยันเรียนรู้ เคารพผู้ใหญ่ ให้เกียรติคนอื่น และเชื่อมั่นในตัวเองสูง

จากฝีไม้ลายมือในการบริหารและขับเคลื่อนธนาคารอันดับ 1 ของประเทศไทย ประกอบกับประสบการณ์ความรู้ ความสามารถ ทำให้การเข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมนักธุรกิจอาเซียนของคุณโทนี่ ถูกจับตามองจากนักธุรกิจชั้นนำเป็นอย่างมากว่าจะสามารถผลักดันวิสัยทัศน์เอบีซีให้เป็นจริงได้อย่างไร

โดย พิรุณ ศรีวุฒิชาญ - AEC World - หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ

วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

จอห์น เปง เลขาฯอาเซียนบิสฯคลับ


นายจอห์น เปง (John Pang) เป็นพ่อบ้านคนสำคัญของสมาคมนักธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Club) ในตำแหน่งเลขาธิการสมาคม ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่าสมาคมนี้ตั้งขึ้นเชื่อมโยงผู้นำธุรกิจระดับเบิ้มๆ ของแต่ละประเทศในอาเซียนให้มารู้จักกันและช่วยกันผลักดันแผนจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผู้ผลักดันให้เกิด สมาคมนักธุรกิจอาเซียน คนสำคัญคือ ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค บอสใหญ่แบงก์ซีไอเอ็มบี ดังนั้นพ่อบ้านของสมาคมคนนี้จึงมาจากแบงก์ซีไอเอ็มบีเหมือนกัน
จอห์น เปง (John Pang)

ปัจจุบันนายจอห์น เปง เป็นซีอีโอของสถาบันวิจัยศึกษา ซีไอเอ็มบี อาเซียน หรือ CIMB ASEAN Research Institute (CARI) เป็นสถาบันที่ก่อตั้งขึ้นโดยบอสใหญ่ของแบงก์ซีไอเอ็มบี ในปี 2553 เพื่อเป็นองค์กรอิสระที่มีภารกิจหลักในการผสานความร่วมมือทางสังคมและเศรษฐกิจของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีการเขียนวิสัยทัศน์ไว้ชัดเจนว่า

“ประเทศสมาชิกอาเซียนลงนามข้อตกลงจะรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ภายในปี 2558 แต่มีภาคธุรกิจของประเทศสมาชิกเพียง 20% จากทั้งหมดที่ระบุถึงเออีซี ในแผนธุรกิจของแต่ละบริษัท จึงเป็นที่ชัดเจนว่าการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นงานสำคัญเกินกว่าจะให้ภาครัฐดำเนินการฝ่ายเดียว ภาคเอกชนและองค์กรอิสระต้องช่วยให้มีเรื่องเออีซีอยู่ในแผนธุรกิจของทุกบริษัท”

เท่ากับว่า นายจอห์น เปง เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CARI และเลขาธิการสมาคมนักธุรกิจอาเซียนควบคู่กันไป ซึ่งความจริงทั้งสององค์กรก็มีภารกิจเดียวกัน โดยในชฐานะเลขาธิการสมาคม เขาได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า ขณะนี้ระบบเศรษฐกิจโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เศรษฐกิจของเอเชียจะมีความสำคัญมากขึ้น ประเทศจีน อินเดียและอาเซียนจะเป็นกลไกหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก และอาเซียนมีโครงสร้างและทำเลดีที่สุดในเรื่องของการค้าขายระหว่างประเทศ

นายจอห์น เปง มีภูมิหลังเป็นนักวิชาการหนุ่มที่โด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากความรู้ที่หลากหลายแขนง เขาจบปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาปรัชญาเศรษฐศาสตร์ จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE - London School of Economics) ปริญญาเอกในสาขาปรัชญาการเมืองและศาสนมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา

นายจอห์นเคยดำรงตำแหน่งนักวิชาการรับเชิญอาวุโสอยู่ที่ สถาบันการศึกษาระหว่างประเทศ เอส ราชารัตนัม (S. Rajaratnam School of International Studies - RSIS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (Nanyang Technological University) ประเทศสิงคโปร์

ในทางการเมือง นายจอห์น เป็น1ที่ปรึกษาให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของมาเลเซีย และยังเคยมีส่วนร่วมในการริเริ่มบริษัทบริหารจัดการความเสี่ยงและกลยุทธ์ด้านการสื่อสารแห่งภูมภาคอีกด้วย นอกจากนี้ยังเคยร่วมงานกับ แมคคินซี แอนด์ คอมพานี ในโครงการด้านการบิน น้ำมันและก๊าซ และพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จนกระทั่งเดือนเมษายน 2553 จอห์นจึงได้เข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของสถาบันวิจัยแห่งอาเซียน

คงต้องจับตาดูว่านายจอห์น เปง คนนี้จะมีส่วนผลักดันให้บริษัทต่างๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียน บรรจุแผนงานเกี่ยวกับเออีซี ไว้ในแผนธุรกิจของบริษัทได้อย่างไร

โดย พิรุณ ศรีวุฒิชาญ - AEC World - หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ

วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค

ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัคบอสใหญ่แบงก์ ซีไอเอ็มบี เป็นคนมีวิสัยทัศน์ในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ก้าวไกลที่สุดคนหนึ่ง เขาเป็นกำลังสำคัญในการริเริ่ม “สมาคมนักธุรกิจอาเซียน” โดยการเชิญนักธุรกิจผู้มีอิทธิพลและบทบาทจากทั่วภูมิภาคทั้งหมด 10 คนร่วมเป็นผู้ก่อตั้งและรับเชิญให้ดำรงตำแหน่งเป็นสภาที่ปรึกษาของสมาคมแห่งนี้

ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค
สมาคมนักธุรกิจอาเซียน หรือ ABC (Asean Business Clubตั้งขึ้นเพื่อเชื่อมโยงผู้นำธุรกิจระดับเบิ้มๆ ของแต่ละประเทศในอาเซียนให้มารู้จักกัน โดยมุ่งหวังว่าความสัมพันธ์นี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือและการสนับสนุนการบูรณาการเศรษฐกิจในอาเซียน ภายใต้วิสัยทัศน์ “อาเซียนเปิดกว้างโอกาสทางธุรกิจ”

เป็นความรู้สึกลึกๆ ของนายนาเซียร์ ราซัค ที่อยากให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นสังคมใหญ่ที่เปิดกว้างจริงๆ เช่นเดียวกับประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) และคิดว่าถ้าผู้นำภาคธุรกิจในภูมิภาคเข้าร่วมผลักดันแนวคิดนี้ก็จะทำให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจจริงๆ ที่ไม่มีกำแพงที่แต่ประเทศจะสร้างขึ้นมาอีกเพื่อปกป้องตัวเอง

ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัคประธานบริหาร กลุ่มซีไอเอ็มบี (มาเลเซีย)เคยแถลงไว้ว่า “อาเซียนต้องการมากกว่าความร่วมมือระหว่างภาครัฐ โดยการจะเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจำเป็นต้องอาศัยการเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมความเชื่อมั่นและทุ่มเทของภาคเอกชน ดังนั้น ABC จะไม่เพียงแต่ดึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจหรือภาครัฐในอาเซียนเท่านั้น แต่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายที่เอื้อต่อการผสานกำลังระหว่างผู้นำภาคธุรกิจและบริษัทเอกชนทั่วทั้งภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกัน”

นายนาเซียร์ ราซัค เป็นบุตรชายคนเล็กของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่สองของมาเลเซียคือ นายตุน อับดุล ราซัคกับนาง ราฮาห์ มุฮัมหมัด นุฮฺ และน้องชายของ นายราจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของมาเลเซีย เกิดปี 2509 แต่งงานกับลูกสาวของนายตัน ศรี อะซิซ ธาฮา อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia) คือนางอัซลิน่า อะซิซและมีบุตรสองคน

นายนาเซียร์ ราซัคเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์จอห์นและโรงเรียนอลิสสมิทธ์ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์กระทั่งอายุ 13 ขวบ ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเอาน์เดล ประเทศอังกฤษจบการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัยบริสตอลในปี 2528 ปริญญาโทด้านปรัชญาการพัฒนาเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอีก 3 ปีต่อมา

จบการศึกษาที่ประเทศอังกฤษแล้วนายนาเซียร์ ราซัคเริ่มทำงานกับธนาคารซีไอเอ็มบี (มาเลเซีย)ในปี 2532 ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญงานวาณิชธนกิจและย้ายไปประจำตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารที่บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ 3 ปี จึงกลับมาร่วมงานกับธนาคารซีไอเอ็มบี (มาเลเซีย) อีกครั้ง ไต่เต้าขึ้นมาจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ในปี 2552

ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัคประสบความสำเร็จอย่างมาก ได้รับรางวัลต่างๆมากมาย อาทิ นักธุรกิจแห่งปี 2546 Young Global Leader 2546 CEO แห่งปี 2547 รางวัล ผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต” (Lifetime Achievement Award) ปี 2552 เป็นผู้บริหารที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลนี้ รางวัลผู้บริหารยอดเยี่ยมของมาเลเซีย 2552-2553 และผู้นำองค์กรยอดเยี่ยม 2554 ล่าสุด ได้รับรางวัล “ผู้สนับสนุนดีเด่น” สำหรับการสร้างประโยชน์ให้แก่ตลาดการเงินในเอเชียซึ่งรางวัลดังกล่าวนับเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติสูงสุดในอุตสาหกรรมการเงินระดับสากลทุกวันนี้

ซีไอเอ็มบี ภายใต้การบริหารของนายราเซียร์ ราซัคเติบโตจากการควบรวมกันของธุรกิจวาณิชธนกิจเป็น ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป เบอร์ฮาด จนก้าวขึ้นมาเป็นสถาบันการเงินอันดับ 2 ของมาเลเซีย มีสาขาอยู่ใน 14 ประเทศทั่วโลก 1,100 สาขาในอาเซียน เป็นธนาคารระดับภูมิภาคภายใต้สโลแกน ASEAN For You” ในปี 2553 ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป ได้รับรางวัล ธนาคารและวาณิชธนกิจยอดเยี่ยม ธนาคารอิสลามยอดเยี่ยม และ Top Investment Bank Award สำหรับภูมิภาคเอเชีย

ด้วยเห็นฝีไม้ลายมือและความสำเร็จในการบริหารองค์กรขั้นเทพทำให้ในภาคธุรกิจทั่วอาเซียน เฝ้าติดตามดูว่า “สมาคมนักธุรกิจอาเซียน” ภายใต้วิสัยทัศน์ของนายนาเซียร์ ราซัค จะมีย่างก้าวอย่างไรในการ ร่วมผลักดันประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตอันใกล้

โดย พิรุณ ศรีวุฒิชาญ - AEC World - หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประธานยานยนต์อาเซียน


คุณเพียงใจ แก้วสุวรรณ กลายเป็นผู้หญิงที่น่าจับตามากที่สุดในวงการยานยนต์ระดับประเทศและภูมิภาคเพราะเธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ก้าวขึ้นรับตำแหน่งนายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ในประวัติ 29 ปี ของสมาคมและผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือดด้วยเสียงเอกฉันท์ ให้เป็นประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอาเซียน หรือ ASEAN Automotive Federation (AAF) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา
คุณเพียงใจ แก้วสุวรรณ
ปัจจุบัน คุณเพียงใจ แก้วสุวรรณ ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ของ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด การเข้ารับตำแหน่งประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอาเซียนของคุณเพียงใจครั้งนี้พอดีเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังเตรียมตัวเข้าสู่สถานะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ช่วงปลายปี 2558 บทบาทของเธอจึงได้รับการจับตามองมากที่สุดในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์

ประธานหญิงคนแรกของสมาพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอาเซียนซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี มีภารกิจและบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและภูมิภาคอาเซียนให้พัฒนาและเติบโตต่อไปโดยมีประเด็นสำคัญ คือการชักนำให้รัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียนต่างๆ ปรับปรุงกฎระเบียบด้านการค้าและลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้สอดประสานกันเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์

คุณเพียงใจ ปัจจุบันอายุ 62 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทางด้านพาณิชย์และการบัญชี ในระหว่างที่กำลังศึกษาปริญญาโทอยู่นั้น ได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานในสายงานด้านบัญชีที่บริษัท สยามกลการ จำกัด กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมยานยนต์รายใหญ่ของไทย ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์นิสสัน

งานที่บริษัท สยามกลการฯ ทำให้คุณเพียงใจ มีโอกาสเรียนรู้งานในหลายๆด้านของอุตสาหกรรมทั้งจัดซื้อ บริหารเครือข่ายการจำหน่าย ฯลฯ จนกระทั่งได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้จัดการ

ต่อมาคุณเพียงใจ ได้ตัดสินใจผันตัวเองไปทำหน้าที่สายงานการพัฒนาธุรกิจของสถาบันยานยนต์ เป็นระยะเวลา 2 ปี ทำให้มีโอกาสได้ร่วมงานกับหลายหน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชนสะสมประสบการณ์ความรู้ระดับแม็กโคร และคอนเนกชันอีกมากมาย

ในปี 2548 คุณเพียงใจได้กลับมาร่วมงานกับทางนิสสันอีกครั้ง คือบริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด ในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ ซึ่งต้องหันมาดูแลระดับนโยบายมากและยังได้ช่วยงานสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย

ด้วยความสามารถและความรอบด้าน คุณเพียงใจได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คนที่ 5 และเป็นผู้หญิงคนแรกนับ โดยเมื่อครบวาระได้รับเลือกให้เป็นนายกอีกสมัย

แม้งานจะหนักใน 3 ตำแหน่งแต่คนใกล้ชิดเล่าว่า คุณเพียงใจมีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่นกับสามีและลูกสาว 2 คน หญิงแกร่งคนนี้มีกิจกรรมยามว่างที่ชื่นชอบคือการเล่นกอล์ฟ สะสมและเลี้ยงกล้วยไม้

นับว่าเป็นหญิงไทยที่มีบทบาทระดับภูมิภาคอาเซียนที่น่าจับตามากที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบัน

โดย พิรุณ ศรีวุฒิชาญ - AEC World - หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ

วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

‘แม่ทัพ’ อาเซียน


ถ้าให้เลขาธิการอาเซียนเป็นกัปตันแล้ว ต้องให้ประธานอาเซียนเป็น “แม่ทัพ” ซึ่งในปี 2556 นี้เป็นรอบของผู้นำประเทศบรูไนดารุสซาลาม ที่ได้เป็นแม่ทัพอาเซียนต่อจากประเทศกัมพูชา
สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ 

แม่ทัพอาเซียนคนปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ ประมุข นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้นำทางศาสนาอิสลามแห่งเนการาบรูไนดารุสซาลาม หรือประเทศบรูไน เป็นบุคคลผู้ที่ต้องสนับสนุนเลขาธิการอาเซียน “เลอ เลือง มินห์” ในการผลักดันแผนงานอาเซียน ตลอด 1 ปีนี้

ทันทีที่ได้รับมอบตำแหน่งแม่ทัพอาเซียนคนใหม่ได้ประกาศว่า จะส่งเสริมการสร้างสันติสุข และความเจริญรุ่งเรืองทั้งในระดับภูมิภาคและสากล และจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสังคมบรูไนในเรื่อง สันติภาพและความสามัคคี รวมไปถึงจะต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยความเคารพและเป็นมิตร

นอกจากแถลงการณ์จากประธานอาเซียนแล้ว สื่อในบรูไน ยังได้รายงานอ้างเจ้าหน้าที่รัฐบาลโดยไม่ระบุชื่อว่า นโยบายของบรูไน ในช่วงที่ผู้นำประเทศได้รับตำแหน่งประธานอาเซียนจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศจีนเป็นอันดับแรก โดยจะใช้แนวทาง “วิถีอาเซียน” คือการเจรจาแบบพหุภาคีระหว่างอาเซียนและจีนและเดินหน้าจัดทำหลักปฏิบัติที่มีผลผูกมัด (Code of Conduct) ระหว่าง 2 ฝ่ายต่อไป

สุลต่านแห่งบรูไน พระองค์นี้ทรงเป็นพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 29 เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 ณ บรูไนทาว์น ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าบันดาร์เสรีเบกาวัน มีพระชนมายุ 66 พรรษา ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในสมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่าน โอมาร์ อาลี ไซฟุดดิน ที่ 3 กับสมเด็จพระราชินี ราชา อิสตรี เป็งงีรัน อานัก ดามิต เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2510 ครองราชย์มาแล้ว 46 ปี

สมเด็จพระราชาธิบดีฮัสซานัล โบลเกียห์ ทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารแซนด์เฮิร์สต์ ประเทศอังกฤษ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2510 และอภิเษกสมรสกับพระมเหสี 3 พระองค์ ได้แก่ 1.สมเด็จพระราชินีรายาอิสตรี เป็งงีรัน อานะก์ ฮัจญะห์ สเลฮา 2.พระมเหสีเป็งงีรัน อิสตรี ฮัจญะห์ มาเรียม 3.อัซรีนาซ มาซาร์ ฮาคิม อดีตผู้ประกาศข่าวช่อง 3 ประเทศมาเลเซีย มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 12 พระองค์

แม่ทัพอาเซียนท่านนี้ ได้รับการจัดอันดับเป็นชายผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก จากนิตยสารฟอร์บส์ ในปี 2555 มีทรัพย์สิน 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 660,000 ล้านบาท) เป็นคนมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง อารมณ์ร้อน เข้มแข็ง ชอบกีฬากลางแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โปโล สควอช แบดมินตัน การเล่นเรือใบ การขับรถยนต์และเครื่องบิน ชอบอาหารตะวันตก และขับรถยนต์ด้วยตัวเอง

สมเด็จพระราชาธิบดีฮัสซานัล โบลเกียห์ แม้จะใช้ชีวิตส่วนพระองค์อย่างหรูหรา แต่ได้รับการยกย่องในฝีมือการบริหารประเทศไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้นจึงเป็นที่จับตาในฐานะแม่ทัพอาเซียนคนใหม่ว่าจะนำพา อาเซียนไปอย่างไรในปีนี้ โดยเฉพาะในเรื่องการเจรจากับทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวพันกับปัญหาข้อขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ให้ไปในแนวทาง “วิถีอาเซียน” ซึ่งประเทศจีน ไม่ค่อยชอบแนวทางนี้เท่าใดนัก

ในไม่ช้าเราคงจะได้เห็นฝีมือของแม่ทัพอาเซียนคนปัจจุบันเพราะบรูไนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิท ในเดือนเมษายนและตุลาคมศกนี้


โดย พิรุณ ศรีวุฒิชาญ - AEC World - หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ